วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2550

นวัตกรรมการศึกษา

นวัตกรรมการศึกษา
10.1.1 ความหมายของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ดังกล่าวแล้วว่า เทคโนโลยีการศึกษา เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ หรือใช้ ร่วมกับกระบวนการทางจิตวิทยา และอื่น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีมิได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพคงที่เสมอไป ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีใด ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่ เปลี่ยนแปลงเวลา เปลี่ยนบุคคลที่ใช้และบุคคลที่ถูกนำไปใช้ เปลี่ยนแปลงสถานที่แวดล้อม ก็อาจจะทำให้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น เทคโนโลยีนั้นก็จะยังคงใช้ต่อไป แต่เมื่อประสิทธิภาพลดลง เทคโนโลยีนั้น ๆ จึงต้องมีการปรับปรุงจุดบกพร่องบางส่วน หรือนำเอาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่งวิธีการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่หรือวิธีการใหม่ที่นำมาใช้เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation) ทอมัส ฮิวซ์ (อ้างในบุญเกื้อ ควรหาเวช, 2542:13) ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรมว่า "เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจจะเป็นรูปของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำมาปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา" มอตัน (อ้างในบุญเกื้อ ควรหาเวช, 2542:13) กล่าวว่า "นวัตกรรม หมายถึง การทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง (Renewal) ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงของเก่าและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การนั้น ๆ นวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการปรับปรุงแต่งและพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ" ไชยยศ เรืองสุวรรณ (อ้างในบุญเกื้อ ควรหาเวช, 2542:13) กล่าวว่า "นวัตกรรม หมายถึงวิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาหรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น" ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า "นวัตกรรม เป็นการปรับปรุงดัดแปลงวิธีการเดิม หรือนำเอาวิธีการใหม่มาใช้ในกระบวนการดำเนินงานใดๆ แล้วทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม" 10.1.2 เกณฑ์ในการพิจารณานวัตกรรม เพื่อที่จะสามารถแยกแยะได้ว่าวิธีการที่นำมาใช้ในกระบวนการใด ๆ นั้น จะเรียกว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2526:37 ได้กล่าวถึง) เกณฑ์ของนวัตกรรมไว้ว่าประกอบด้วยลักษณะ 4 ประการคือ 1) เป็นวิธีการใหม่ทั้งหมดหรือเกิดจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการเดิม 2) มีการนำเอาระบบ (System) พิจารณาองค์ประกอบของกระบวนการดำเนินการ นั้น ๆ 3) มีการวิจัย หรืออยู่ระหว่างการวิจัยว่า ทำให้กระบวนการดำเนินงานนั้น ๆ มี ประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม 4) ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบในปัจจุบัน กล่าวคือหากวิธีการนั้น ๆ ได้รับการนำเอา ไปใช้อย่างกว้างขวางโดยทั่วไปแล้ว และวิธีการนั้นมีประสิทธิภาพก็จะถือว่าวิธีการนั้น ๆ นับเป็นเทคโนโลยี 10.1.3 ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
คอมพิวเตอร์ทางการศึกษา
ดังกล่าวแล้วว่า จากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การนำมาใช้งานในวงการธุรกิจ การแพทย์ การทหาร หรือการศึกษาเป็นไปอย่างกว้างขวาง 11.6.1 ลักษณะของคอมพิวเตอร์ทางการศึกษา ในด้านการศึกษา อาจจะกล่าวได้ว่ามีการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ใน 2 ลักษณะดังนี้ คือ 1) ลักษณะที่เป็นเครื่องช่วยสอน(Computer - assisted Instruction หรือ CAI) เป็นการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในลักษณะของการเรียนการสอนโดยตรงในรูปแบบต่าง ๆ กัน 2) ลักษณะที่เป็นเครื่องช่วยจัดการบริหารการเรียนการสอน (Computer - managed Instruction) เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานด้านต่าง ๆ ที่สนับสนุนการเรียนการสอน เช่นการบริหารด้านการเงิน พัสดุ บัญชี ทะเบียน ฯลฯ หรืองานห้องสมุด งานวิจัย งานวัด ประเมินผล เป็นต้น บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์ (2531:3) ได้กล่าวถึงการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในลักษณะการใช้งานต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1) งานบริหาร (Administrative application) เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานด้านต่าง ๆ เช่น การเงิน ธุรการ ทะเบียน สารบรรณ เป็นต้น 2) งานหลักสูตร (Curriculum planning application) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในการนำมาใช้ในการปรับปรุงหลักสูตร 3) งานห้องสมุด (Library application) คอมพิวเตอร์จะสามารถนำมาใช้ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ วารสาร ตำรา ทะเบียนหนังสือ ตลอดจนการใช้งานห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ที่การอ่านศึกษาค้นคว้าได้โดยคอมพิวเตอร์แทนเอกสารตำราโดยตรง 4) งานพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development application) ช่วยให้ครูมีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อนำไปพัฒนาการเรียนการสอน 5) งานวิจัย (Research application) ช่วยในการเก็บบันทึกข้อมูล ประมวลผลและแปลผลข้อมูล 6) งานแนะแนวและงานบริการพิเศษอื่น ๆ (Guidance and special service applications) ช่วยในการเก็บระเบียนประวัตินักเรียน พฤติกรรมนักเรียน รวบรวมคะแนนสอบ มาตรฐานต่าง ๆ ฯลฯ 7) งานทดสอบ (Testing application) ช่วยในการสร้างข้อทดสอบ วิเคราะห์และประเมินผลการเรียน ฯลฯ 8) อุปกรณ์ช่วยสอน (Instructional application) เป็นการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ร่วมกับโสตทัศนูปกรณ์อื่น ๆ ในด้านการเรียนการสอนในชั้น เช่น การใช้ร่วมกับ วีดีโอโปรเจคเตอร์ ฯลฯ 9) งานการเรียนการสอนในชั้น หรือคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer - assisted instruction) เป็นการนำเอาคอมพิวเตอร์ไปใช้งานในด้านการเรียนการสอนชั้นเรียนโดยตรง
คอมพิวเตอร์ทางการศึกษา 2
11.7 คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer - assisted Instruction - CAI)
11.7.1 ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน คอมพิวเตอร์สามารถนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้หลายวิธี ผู้สอนจำเป็นต้อง เข้าใจลักษณะและประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะสามารถเลือกนำมาใช้ในการเรียนได้อย่างเหมาะสม คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถแยกประเภทออกได้ดังนี้ 1. โปรแกรมเพื่อการฝึกหัดและปฏิบัติ (Drill and Practice) เป็นโปรแกรมที่ผู้เรียนจะได้ลองทำแบบฝึกหัดหลังจากได้เรียนเนื้อหาหลักการหรือทฤษฏีไปแล้ว 2. โปรแกรมเพื่อการสอน (Tutorial) เป็นโปรแกรมที่ผู้เรียนจะศึกษาเนื้อหาใหม่โดยตรง จากคอมพิวเตอร์แทนการเรียนจากผู้สอน 3. โปรแกรมจำลองสถานการณ์ (Simulation) เป็นการจำลองสถานการณ์จริงที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แทนการปฏิบัติการในสถานการณ์จริง เช่น โปรแกรมการฝึกหัดบินของนักบิน ฯลฯ 4. เกมทางการศึกษา (Educational Games) เป็นลักษณะเกมที่สอดแทรกเนื้อหาอยู่ภายในกิจกรรมของเกมนั้น ๆ ทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกสนานไปด้วย 5. โปรแกรมเพื่อแก้ปัญหา (Problem Solving) เป็นโปรแกรมที่เสนอปัญหา และข้อมูลเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการแก้ปัญหา เนื่องจากคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีใหม่ซึ่งต้องอาศัยผู้มีความเข้าใจในการทำงานของ คอมพิวเตอร์ตลอดจนมีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นคอมพิวเตอร์จึงมีทั้งข้อดีและข้อจำกัดในการนำมาใช้ในการเรียนการสอน 11.7.2 ข้อดีของ CAI 1) ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนช้าหรือเร็วได้ ตามระดับความสามารถของตนเอง เนื่องจากคอมพิวเตอร์เป็นสื่อการสอนรายบุคคลที่ดียิ่ง ดังนั้นผู้เรียนจะใช้เวลาเรียนแตกต่างกัน ตามความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน 2) ไม่จำกัดสถานที่เรียน ผู้เรียนไม่จำเป็นจะต้องมายังสถานศึกษา ผู้เรียนอาจจะเรียนอยู่กับบ้านผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ 3) สามารถเรียนจากสื่อประสม (Multi media) ความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้เรียนสามารถอ่านข้อความ ดูรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว (animation) วีดิทัศน์ (Video) และฟังเสียงได้ 4) การทราบผลการเรียนทันที คอมพิวเตอร์สามารถแจ้งและบันทึกผลการปฏิบัติได้ทันที ทำให้ผู้เรียนสามารถตรวจสอบความเข้าใจของตนเองว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไร 11.7.3 ข้อจำกัดของ CAI ในการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอนนั้น มีข้อจำกัดบางประการ ทำให้เกิดปัญหาในการนำมาใช้ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้ 1) ขาดซอฟแวร์บทเรียนที่มีคุณภาพ เนื่องจากการผลิตซอฟแวร์บทเรียนที่เหมาะสมและมีคุณภาพจำเป็นต้องอาศัยทั้งโปรแกรมเมอร์ นักเทคโนโลยีการศึกษา และนักประเมินผลดังนั้นบทเรียนที่มีอยู่โดยทั่วไปจึงด้อยคุณภาพ ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการเรียนแก่ผู้เรียน 2) ขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ เนื่องจากคอมพิวเตอร์เป็นนวัตกรรม ดังนั้น จึงขาดบุคลากรที่มีความรู้ทั้งการใช้ การผลิตซอฟแวร์ ตลอดจนผู้วางระบบการใช้งานของคอมพิวเตอร์ทำให้ภาพที่ใช้ไม่เหมาะสมกับการเรียนการสอน 3) ครุภัณฑ์มีราคาสูง แม้จะมีการพัฒนาคอมพิวเตอร์ไปอย่างมากจนทำให้ราคาต่ำลงกว่าเมื่อหลายปีที่ผ่านมาแต่ราคาก็ยังคงสูง และค่าบำรุงรักษาค่อนข้างแพง ดังนั้นสถานศึกษาโดยทั่วไปจึงยังคงมีปัญหา บทสรุป คอมพิวเตอร์เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่มีการพัฒนาและนำมาใช้อย่างมากที่สุด ในช่วงระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา มีการนำเอาคอมพิวเตอร์ไปใช้ในระบบบริหารและช่วยสอนอย่างมากมาย แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ บทเรียนที่มีคุณภาพและบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ดังนั้นคอมพิวเตอร์จึงยังคงต้องได้รับความเอาใจใส่ และพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในทุกด้าน

แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้
แหล่งวิทยาการในชุมชน (Community Resources)
ในระบบการเรียนการสอนในอดีตเราคงเคยพบว่า รูปแบบการสอนของครูจะมีลักษณะของการที่ครูจะยืนถือตำราหน้าชั้นเรียนด้วยมือซ้าย มือขวาถือชอล์คหรืออาจจะเป็นไม้เรียว ครูก็จะพูดไป เขียนไปหรืออาจจะพูดเพียงอย่างเดียว ครูจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสพูดหรือถามเลย หากครูไม่มาสอน ก็อาจจะมอบหนังสือให้หัวหน้าชั้นเป็นผู้บอกให้นักเรียนจด ภาพดังกล่าวเราจะเห็นว่าหายไป การเรียนการสอนมีลักษณะของการที่ผู้เรียนเริ่มมีบทบาท มีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น มีการถามตอบ การอภิปราย ใช้สื่อการสอนอย่างกว้างขวางกว่าเดิม แต่วิทยาการที่เกิดขึ้นในโลกมีอยู่มากมาย ผู้สอนไม่อาจจะนำความรู้ดังกล่าวเข้ามาสู่ห้องเรียนได้ทั้งหมด ดังนั้นผู้เรียนจึงจำเป็นที่จะต้องออกไปสู่แหล่งวิทยาการภายนอกห้องเรียนด้วยตนเอง แต่กิจกรรมดังกล่าวของผู้เรียนจะต้องเกิดจากการวางแผนที่เหมาะสมของผู้สอน และผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนดได้ แหล่งวิทยาการทางการศึกษาอาจจะแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะด้วยกัน คือ 1. แหล่งวิทยาการในชุมชน (Community Resources)2. แหล่งวิทยาการจากสื่อสารมวลชน (Mass Media Resources) 3 แหล่งวิทยาการจากเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Resources) 4. การศึกษานอกสถานที่ (Field Trip) ในชุมชนแต่ละชุมชนจะมีแหล่งวิทยาการมากมายที่ผู้เรียนจะสามารถไปศึกษาหาความรู้ ได้แหล่งวิทยาการในชุมชนอาจจะเป็นทรัพยากรบุคคล สถานประกอบการ สถานศึกษาหรือหน่วยราชการ ซึ่งผู้สอนจะต้องวางแผนและประสานในการที่ผู้เรียนจะเป็นผู้ไปศึกษาหาความรู้จากแหล่งวิทยาการต่าง ๆ ดังกล่าวด้วยตนเอง 12.1.1 ทรัพยากรบุคคล บุคคลในท้องถิ่นนับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับการศึกษาในท้องถิ่น ทางสถานศึกษาควรจัดทำรายชื่อที่อยู่ ความชำนาญของบุคคลในท้องถิ่นนั้น ๆ เมื่อต้องการให้ความรู้แก่ผู้เรียนผู้สอนก็อาจจะเชิญบุคคลดังกล่าวมาให้ความรู้แก่ผู้เรียนหรืออาจจะนำผู้เรียนไปศึกษานอกสถานที่ก็ได้ 12.1.2 สถานประกอบการ สถานประกอบการในท้องถิ่นเป็นแหล่งความรู้อีกแหล่งหนึ่งที่ผู้เรียนสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ โดยปกติแล้วสถานประกอบการขนาดใหญ่ในท้องถิ่นก็จะมีหน่วยงานประชาสัมพันธ์ที่จะสามารถติดต่อเพื่อเข้าศึกษาได้ เช่นโรงพิมพ์ไทยรัฐ สถานีคมนาคมภาคพื้นดินผ่านดาวเทียม ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่อำเภอศรีราชา บริษัท Seagate ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ณ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ฯลฯ 12.1.3 สถานศึกษาหรือหน่วยราชการ สถานศึกษาหรือหน่วยงานราชการเป็นอีกแหล่งหนึ่ง ที่อาจจะเข้าไปศึกษาหาความรู้ มหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ สถานีอนามัย สาธารณสุข ศูนย์วิจัยทางการเกษตร ศูนย์วิจัยประมง จะเป็นแหล่งให้ความรู้ในสาขาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
การศึกษานอกสถานที่ (Field Trip)การศึกษานอกสถานที่จัดเป็นสื่อการสอนประเภทกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จากแหล่งวิทยาการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำคัญ วัตถุสิ่งของ เหตุการณ์สำคัญ ๆ หรือบุคคลสำคัญ ที่ไม่สามารถนำมาสู่ห้องเรียนโดยตรงได้ การศึกษานอกห้องเรียนก็จัดว่าเป็นการศึกษานอกสถานที่ ตัวอย่างการสอนที่ให้นักเรียนออกไปวาดภาพใบไม้ชนิดต่าง ๆ ภายในบริเวณโรงเรียน จัดแยกประเภทแล้วมาเสนอในชั้นเรียนก็จัดว่าเป็นการศึกษานอกสถานที่ นักเรียนจะรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานกว่าการที่ผู้สอนจะนำใบไม้ชนิดต่าง ๆ เข้ามาในชั้นเรียนให้นักเรียนได้ดู 12.4.1 คุณค่าของการศึกษานอกสถานที่ การศึกษานอกสถานที่จะมีคุณค่าต่อผู้เรียนหลายประการ ดังนี้ 1) เป็นการจัดประสบการณ์ตรงแก่ผู้เรียนตามสภาพความเป็นจริง 2) ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ในห้องเรียนกับนอกห้องเรียนได้ 3) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนพัฒนาและสร้างคุณลักษณะเฉพาะตน เช่น ความ รับผิดชอบ การตรงต่อเวลา ความมีระเบียบวินัย มนุษยสัมพันธ์ การรู้จักสังเกต และการ แก้ปัญหา เป็นต้น 4) ผู้เรียนมีประสบการณ์กว้างไกล มีความรู้สึกสนุกสนานในการเรียน 12.4.2 ข้อควรระวังในการจัดการศึกษานอกสถานที่ ในการจัดการศึกษานอกสถานที่ให้แก่ผู้เรียนนั้นควรจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1) การจัดการศึกษานอกสถานที่นั้น ๆ ตรงกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตรหรือไม่ 2) ผลที่ได้รับคุ้มค่ากับการเสียเวลา ค่าใช้จ่าย การเสี่ยงต่อความปลอดภัยมาก น้อยเพียงไร 3) ไม่สามารถจัดประสบการณ์การเรียนการสอนรูปแบบอื่น ๆ ที่จะให้ประสิทธิ ภาพได้ดีกว่าการศึกษานอกสถานที่ 4) เหมาะสมกับระดับชั้น วัยหรือเพศของผู้เรียนมากน้อยเพียงไร 12.4.3 ขั้นตอนในการจัดการศึกษานอกสถานที่ การจัดการศึกษานอกสถานที่อาจจะแบ่งวิธีการดำเนินการ ออกเป็น 3 ขั้นตอน ด้วยกัน คือ 1) ก่อนการศึกษานอกสถานที่ 2) ระหว่างการศึกษานอกสถานที่ 3) หลังจากการศึกษานอกสถานที่ ขั้นก่อนการศึกษานอกสถานที่ ก่อนการศึกษานอกสถานที่ ผู้สอนจะต้องเตรียมการ ดังต่อไปนี้ 1) กำหนดจุดประสงค์ / เสนอโครงการ 2) สำรวจสถานที่ ขออนุญาตเจ้าของสถานที่/แจ้งจุดประสงค์/จำนวนผู้ทัศนศึกษา/ระดับชั้น/ 3) กำหนดเวลา 4) ทำกำหนดการเดินทาง 5) ประมาณการค่าใช่จ่าย 6) ขออนุญาตผู้ปกครองนักเรียน/นักศึกษา 7) จัดทำคู่มือการทัศนศึกษาแก่ผู้เรียน 8) แบ่งหน้าที่การจัดเตรียมเวชภัณฑ์ อาหาร เครื่องดื่ม 9) จัดผู้ควบคุมให้เป็นไปตามระเบียบทางราชการว่าด้วยการนำนักเรียน/ นักศึกษาไปศึกษานอกสถานที่ 10) เตรียมการประเมินผลการจัดกิจกรรม 11) ก่อนเดินทางผู้สอนจะต้องเตรียมตัวผู้เรียนดังนี้ ก. ชี้แจงให้ผู้เรียนทราบจุดมุ่งหมายของการศึกษานอกสถานที่ ข. ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสถานที่ บุคคลที่จะไปเยี่ยม/ชม ค. เตรียมตั้งคำถามที่จะถามวิทยากรหรือบุคคล ง. กำหนดแนวปฏิบัติ มารยาท การแต่งกายแก่ผู้เรียน จ. แจ้งให้ผู้เรียนทราบบทบาทของผู้เรียนหลังจากกับจากการศึกษานอก สถานที่ เช่น การทำรายงาน การจัดนิทรรศการ หรือ ป้ายนิเทศ การอภิปรายกลุ่ม ฯลฯ ระหว่างการศึกษานอกสถานที่ เพื่อความสะดวกเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษานอกสถานที่ ผู้สอนจะต้องควบคุมดูแลให้ผู้เรียนปฏิบัติดังต่อไปนื้ 1) รักษาเวลาการศึกษานอกสถานที่ให้เป็นไปตามกำหนด 2) เคารพกฎระเบียบข้อปฏิบัติของสถานที่แต่ละแห่งอย่างเคร่งครัด 3) ระมัดระวังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มสุรา การเล่นการพนัน การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ ให้เวลาเพียงพอในการชม ซักถาม สังเกต และการบันทึกข้อมูล ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย การพลัดหลง ควรมีการตรวจนับผู้เรียน หรือวัสดุอุปกรณ์ ก่อนเดินทางออกจากสถานที่นั้น ๆ หลังจากการศึกษานอกสถานที่ หลังจากกลับจากการศึกษานอกสถานที่ผู้สอนควรจะดำเนินการหรือกำหนดให้ผู้เรียนดำเนินการดังนี้ 1) รายงานผลการศึกษานอกสถานที่ต่อผู้อนุญาต ตามลำดับชั้น 2) ทำจดหมายขอบคุณเจ้าของสถานที่/วิทยากร 3) ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น ก. นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษานอกสถานที่ ข. โยงความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ในชั้นเรียนกับสิ่งที่ได้พบเห็น โดยทำ รายงานเป็นรายบุคคล หรือรายกลุ่ม อาจจะมีการจัดป้ายนิเทศหรือนิทรรศการ ค. วิเคราะห์ปัญหาของการศึกษานอกสถานที่ เช่น ความเหมาะสมของ เวลาที่ใช้ไป ค่าใช้จ่าย การตรงต่อเวลา การปฏิบัติตนของนักเรียน ฯลฯ ง. การสรุป/ประเมินผล สรุปและประเมินผลการศึกษานอกสถานที่ อาจจะ โดยการสอบถาม สัมภาษณ์ หรืออภิปรายผู้ร่วมทัศนศึกษาว่า บรรลุจุดประสงค์หรือไม่ เกิดคุณค่าต่อการเรียนมากน้อยเพียงไร มีจุดเด่นในการไปทัศนศึกษาหรือไม่ ฯลฯ


เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย และโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (SchoolNet Thailand) ได้รับการจัดตั้งขึ้น และมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยเป็นโครงการที่เชื่อมโยงโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยเข้าด้วยกันผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียน ครู และนักเรียน ได้เข้าถึงศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต ที่เป็นแหล่งความรู้จากทั่วโลกได้ และสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่นี้ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ตลอดจนทำการแลกเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และการทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษาร่วมกันบนเครือข่าย ต่อจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๒ ในการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวะศึกษาทั่วประเทศที่มีความพร้อมรวม ๕,๐๐๐ โรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผ่านเลขหมายพระราชทาน ๑๕๐๙ ได้ฟรีโดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงค่าโทรศัพท์ในอัตราท้องถิ่น (ครั้งละ ๓ บาท) ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะของครูและนักเรียนนั้น เนคเทคได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรมต่างๆภายใต้โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยนี้ กิจกรรมเหล่านี้ได้แก่ การให้บริการเครือข่ายแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และบริการ helpdesk เพื่อตอบคำถามและให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนให้สามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้ งานด้านกิจกรรมบนเครือข่าย อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ของโครงการเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาให้แก่ โรงเรียน ครู อาจารย์ และ นักเรียน รวมทั้งบุคคลทั่วไป และยังเป็นแหล่งรวบรวมเว็บไซต์ของโรงเรียนจากทุกภาคทั่วประเทศ (http://www.school.net.th) นอกจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมสำหรับเยาวชน ได้แก่ เกมส์แข่งขันตอบปัญหา Digital Library ประจำสัปดาห์สำหรับเยาวชน โครงการ SchoolNet & ThaiBikeWorld (http://www.school.net.th/thaibikeworld) และการส่งเสริมให้เยาวชนได้เข้าร่วมกิจกรรมนานาชาติ เช่น GLOBE, ThinkQuest เป็นต้น งานพัฒนาเนื้อหาความรู้สำหรับครู และนักเรียน ได้จัดทำโครงการโครงการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล (Digital Library) เพื่อเป็นการพัฒนาเนื้อหาความรู้สำหรับเครือข่ายเพื่อโรงเรียนไทย โครงการพัฒนาเครื่องมือสร้างเว็บเพจอย่างง่าย (Digital Library Toolkit) การจัดทำโครงการ "ประกวดเว็บไซต์เพื่อการศึกษาสำหรับครูและนักเรียน" โดยร่วมมือกับกรมวิชาการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา แห่งชาติ การจัดทำโครงการ "พัฒนาห้องสมุดดิจิทัล โดยโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา" โดย ร่วมงานกับกรมสามัญศึกษา งานสัมมนาทางวิชาการ และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ งานสัมมนา "เปิดโลกใหม่การศึกษากับ SchoolNet@1509: ตอน สัญจร 13 เขตการศึกษา" งานสัมมนาทางวิชาการ และนิทรรศการ "มหกรรมอินเทอร์เน็ตเพื่อการในโรงเรียน 5 ภาค" เป็นต้น งานการพัฒนาบุคลากร โดยการจัดทำ โครงการอาสาสมัครในโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อ โรงเรียนไทย (SchoolNet Volunteer) ขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพในการให้คำปรึกษาปัญหาทางเทคนิค และให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนในโครงการในด้านต่างๆ (รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏที่ URL http://school.net.th/volunteer/)